หลังจากทำการเสริมหน้าอกเพื่อเพิ่มความมั่นใจของทรวดทรงแล้ว ผู้เสริมหน้าอกไม่ควรมองข้ามอาการ หรือความผิดปกติที่สามารถเกิดขึ้นตามมาได้ ไม่ว่าจะเสริมหน้าอกมานานแล้วหรือไม่ หนึ่งในอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ก็คือ ซิลิโคนแตก ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นข่าวเรื่องนี้ผ่านตาจากสื่อต่างๆ
โดยในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับซิลิโคนแตก ทั้งมีอาการเป็นอย่างไร เกิดจากอะไร ซิลิโคนแตกอันตรายไหม และสามารถแก้ไขได้อย่างไรบ้าง เพื่อคลายข้อสงสัยและเป็นกังวลใจให้กับผู้ที่กำลังประสบปัญหา รวมถึง ผู้ที่ต้องการเตรียมตัวสำหรับการผ่าตัดเสริมหน้าอกด้วยเช่นกัน
ซิลิโคนแตก คืออะไร? และเป็นอันตรายหรือไม่?
ซิลิโคนแตก (Breast Implants Rupture) คือ การที่ซิลิโคนเสริมหน้าอกเกิดการรั่วหรือแตก ซึ่งจะทำให้ขนาดของฐานเต้านมไม่เท่ากัน ทั้งนี้ อาการดังกล่าวจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้หรือไม่นั้นจะขึ้นอยู่กับชนิดของซิลิโคนที่ใช้ร่วมด้วย โดย
- ซิลิโคนแบบถุงน้ำเกลือ ผู้ที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนแบบถุงน้ำเกลือ ซึ่งเป็นซิลิโคนแบบเก่า จะมีโอกาสที่ซิลิโคนจะรั่วมากกว่า ถึงแม้ว่าน้ำเกลือจะไม่เป็นอันตราย เพราะร่างกายสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้ แต่ทางที่ดีควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจให้ละเอียด
- ซิลิโคนแบบเจล สำหรับผู้ที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนแบบเจล ถึงแม้ว่าซิลิโคนแบบนี้จะมีความหนาและคงตัวมากกว่า แต่ถ้าหากมีการรั่วหรือแตกเกิดขึ้น ร่างกายจะถือว่าเจลที่รั่วออกมานั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและสร้างพังผืดขึ้นมา หรือเกิดก้อนจากต่อมน้ำเหลืองที่เข้าไปดักจับซิลิโคน รวมถึงมีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะติดเชื้อและเกิดมะเร็งได้ ควรต้องรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
สาเหตุที่ทำให้ซิลิโคนแตกมีอะไรบ้าง?
ซิลิโคนแตก ซิลิโคนรั่ว หรือซิลิโคนพลิก สามารถเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
- ซิลิโคนไม่ได้มาตรฐาน ซิลิโคนที่ได้รับมาตรฐานทางการแพทย์ วัสดุที่ใช้ทำจะมีคุณภาพดี ทนทานต่อแรงดันสูง และทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทั้งสูงและต่ำ ถ้าหากใช้ซิลิโคนคุณภาพต่ำกว่าหรือมีความบางกว่ามาตรฐาน จะเพิ่มโอกาสที่ซิลิโคนจะรั่วหรือแตกได้มากยิ่งขึ้น
- อายุการใช้งานซิลิโคนนานเกินไป ถึงแม้ว่าซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์จะมีการรับประกันคุณภาพที่ยาวนาน แต่หลังจากเสริมหน้าอกมานานกว่า 10 ปีขึ้นไป วัสดุซิลิโคนอาจเกิดการเสื่อมคุณภาพ ผู้เสริมหน้าอกควรเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) แมมโมแกรม (Mammogram) หรือ MRI (Magnetic Resonance Imaging) เพื่อดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น
- การผ่าตัดหน้าอกโดยผู้ไม่ชำนาญการ ในขั้นตอนการผ่าตัด หากทำโดยศัลยแพทย์ที่ไม่มีความชำนาญการ อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การเลือกใช้ซิลิโคนขนาดใหญ่เกินกว่าขนาดที่เต้านมจะรับได้ ซิลิโคนเกิดการพับหรืองอ ทำให้เกิดการแตกหรือรั่วซึมออกมา
อาการผิดปกติของซิลิโคนเสริมหน้าอกมีอะไรบ้าง?
ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอก หรือผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอกไปแล้ว ควรทราบถึงอาการผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับซิลิโคนเสริมหน้าอก ไม่ว่าจะเป็น ซิลิโคนแตก ซิลิโคนพลิก และซิลิโคนรั่ว อาการความผิดปกติของซิลิโคนมีรายละเอียดดังนี้
ซิลิโคนแตก
ซิลิโคนแตก มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 0.5-12% ขึ้นกับคุณภาพของซิลิโคนแต่ละยี่ห้อ ซิลิโคนแตกอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับประเภทของซิลิโคน โดยถ้าหากเป็น
- ซิลิโคนแบบถุงน้ำเกลือ หน้าอกจะมีการแฟบลงอย่างฉับพลัน เต้านมเสียทรงไปอย่างรวดเร็ว
- ซิลิโคนแบบเจล การแตกจะทำให้เต้านมผิดรูป ความนิ่มแข็งของเต้านมเปลี่ยนไป ในบางรายผิวหนังภายนอกจะเห็นการอักเสบบวมแดงอย่างชัดเจน รู้สึกเจ็บแสบ และปวดอยู่ภายในเต้านม
ซิลิโคนรั่ว
ซิลิโคนรั่ว มีโอกาสเกิดขึ้นได้ประมาณ 0.5-12% เช่นเดียวกับซิลิโคนแตก เมื่อเกิดการรั่วอาจจะมีอาการหรือไม่มีอาการก็ได้ โดย
- ซิลิโคนแบบน้ำเกลือ ถ้าหากเกิดการรั่วจะสังเกตเห็นได้ว่าเต้านมจะขนาดไม่เท่ากัน มีข้างใดข้างหนึ่งมีขนาดเล็กลงชัดเจน
- ซิลิโคนแบบเจล เมื่อเกิดการรั่วซึมหรือเสื่อมสภาพ จะสังเกตได้ยาก เนื่องจากซิลิโคนเจลยังคงรูปทรงเอาไว้และมีขนาดใกล้เคียงเดิม แต่ถ้าหากสังเกตให้ดีๆ อาจพอเห็นได้ว่าขนาดลดลงหรือบวมขึ้น ทำให้เต้านมทั้งสองข้างไม่เท่ากัน มีก้อนแข็งในเต้านม รู้สึกปวด เจ็บ ชา แสบร้อน หรือไวต่อความรู้สึกมากกว่าปกติ
ซิลิโคนพลิก
ซิลิโคนพลิก คือ การที่ซิลิโคนเคลื่อนที่มากเกินไปจนพลิกกลับด้าน ทำให้หน้าอกเสียรูปทรง จับเจอขอบซิลิโคน และเห็นด้านขอบของซิลิโคนนูนชัดขึ้นมา ถึงแม้ว่าลักษณะซิลิโคนพลิกจะไม่ได้ส่งผลเสียเป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่สามารถทำให้รู้สึกเจ็บได้ในบางราย และอาจสร้างความกังวลใจจากการเสียทรงของเต้านม
จะรู้ได้ไงว่าซิลิโคนแตก? อาการเสี่ยงบ่งบอกว่าซิลิโคนแตกที่สามารถสังเกตได้
ผู้ที่เสริมหน้าอกสามารถสังเกตอาการตนเองว่ามีความเสี่ยงที่อาจเกิดซิลิโคนแตก ซิลิโคนรั่ว หรือซิลิโคนพลิก ได้จากอาการความรู้สึกและลักษณะภายนอกของเต้านม ดังนี้
- หน้าอกผิดรูปไปจากปกติ เต้านมทั้งสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน
- ขนาดหน้าอกเล็กลงอย่างรวดเร็ว
- รู้สึกเจ็บปวด แสบ และมีการอักเสบบวมแดงบริเวณหน้าอก
- รู้สึกชา หรือไวต่อความรู้สึกมากกว่าปกติ
- หน้าอกแข็ง หรือมีก้อนแข็งภายในเต้านม
ทั้งนี้ บางรายอาจไม่มีอาการใดๆ แต่เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย ทางที่ดีควรมาพบแพทย์เพื่อทำการอัลตราซาวนด์ หรือตรวจอย่างละเอียดด้วย MRI ทุก 4-5 ปี
ถ้าหากซิลิโคนแตก รั่ว หรือพลิก สามารถแก้ไข หรือรักษาได้ไหม?
ถ้าหากผู้ที่ทำการเสริมหน้าอกมา ประสบปัญหาซิลิโคนแตก รั่ว หรือพลิก สามารถรักษาและแก้ไขได้ด้วยวิธีการผ่าตัด โดย
- ผ่าตัดนำซิลิโคนออก การผ่าตัดนำซิลิโคนเก่าออกมา ล้างเนื้อเยื่อและโพรงให้สะอาด และขูดพังผืดบริเวณซิลิโคนเก่าออก
- ผ่าตัดเปลี่ยนซิลิโคน การเปลี่ยนซิลิโคนอันเก่าออก ล้างเนื้อเยื่อและโพรงให้สะอาด และเลาะพังผืด จากนั้นนำซิลิโคนอันใหม่ใส่เข้าไปแทนที่
ผลลัพธ์หลังจากที่แพทย์ทำการผ่าตัดแล้ว ถ้าหากไม่ได้มีการนำซิลิโคนใหม่ใส่เข้าไปแทนที่ ขนาดหน้าอกจะกลับไปเท่าเดิมก่อนการเสริมหน้าอก แต่ในบางราย โดยเฉพาะผู้ที่เสริมซิลิโคนขนาดใหญ่มากมาก่อน เนื้อเต้านมจะยืดขยายออกไปมากจึงเกิดการหดตัวได้น้อย ทำให้อาจเกิดผิวหนังหย่อนคล้อยบริเวณเนื้อหน้าอกได้
อาการอื่นๆ ที่ต้องเอาซิลิโคนออกที่คนเสริมหน้าอกควรรู้ไว้
การแก้ไขปัญหาซิลิโคนแตกสำหรับผู้เสริมหน้าอก ต้องทำการผ่าตัดซิลิโคนเก่าออกและอาจใส่ซิลิโคนใหม่เข้าไปแทนที่ นอกจากปัญหาซิลิโคนแตก ซิลิโคนรั่ว และซิลิโคนพลิกแล้ว ยังมีปัญหาเกี่ยวกับเต้านมที่ผู้เสริมหน้าอกไม่ควรมองข้าม และต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัดเอาซิลิโคนออกเช่นกัน โดยมีอาการอื่นๆ ที่ผู้เสริมหน้าอกควรต้องหมั่นสังเกตตัวเอง ดังนี้
พังผืดรอบเต้านม
พังผืดรอบเต้านม เป็นอาการความผิดปกติหลังผ่าตัดเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน ถือเป็นปัญหาที่ผู้เสริมหน้าอกสามารถพบได้บ่อยที่สุด โดยพังผืดหลังเสริมหน้าอกเกิดจากเมื่อผ่าตัดใส่ซิลิโคนเข้าไปในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะจับได้ว่าซิลิโคนนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม และพยายามสร้างพังผืดขึ้นมาห่อหุ้มซิลิโคน เพื่อปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม การเกิดพังผืดจะบีบรัดหน้าอกจนรู้สึกแข็ง ถึงแม้ว่าจะมีการป้องกันการเกิดพังผืดได้โดยการหมั่นนวดบริเวณเต้านม แต่ปัญหาการเกิดพังผืดก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ โดยแบ่งอาการได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 เต้านมรูปทรงปกติ เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดหรือความผิดปกติใดๆ
- ระยะที่ 2 เต้านมรูปทรงปกติ แต่เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าเต้านมแข็งขึ้นเล็กน้อย
- ระยะที่ 3 รูปทรงของเต้านมเริ่มมีความผิดปกติ และทรงไม่กลมสวยเท่าเดิม เมื่อสัมผัสจะรู้สึกว่าเต้านมแข็งมากขึ้นจากระยะที่ 2
- ระยะที่ 4 รูปทรงของเต้านมผิดรูปอย่างชัดเจน เช่น หน้าอกทั้งสองข้างไม่เท่ากัน และหัวนมชี้ไปผิดที่ผิดทาง หน้าอกแข็งขึ้นมาก และรู้สึกเจ็บทั่วบริเวณเต้านม
เกิดริ้วรอย หรือรอยย่น
เกิดริ้วรอย หรือรอยย่น เป็นปัญหาที่สามารถเกิดได้หลังจากเสริมหน้าอกไปสักระยะแล้ว โดยจะเกิดรอยย่นบริเวณขอบซิลิโคนเป็นริ้วคลื่นและสามารถมองเห็นได้ เมื่อสัมผัสจะรู้สึกผิวไม่เรียบ และขรุขระ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ เกิดขึ้นเนื่องจากเนื้อเต้านมบางและขาดความยืดหยุ่น โพรงหน้าอกกับขนาดของซิลิโคนไม่เหมาะสมกัน การเสริมหน้าอกโดยใช้เทคนิคใส่ซิลิโคนเหนือกล้ามเนื้อในผู้ที่มีผิวเต้านมบาง หรือจากคุณภาพของซิลิโคนไม่ผ่านมาตรฐานทางการแพทย์
ซิลิโคนเคลื่อนที่
ซิลิโคนเคลื่อนที่ อีกหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากผ่าตัดเสริมหน้าอก สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น การวางซิลิโคนไม่เท่ากัน การหดตัวของซิลิโคน กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกน้อย หรือเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมหย่อนคล้อย จึงอาจทำให้ซิลิโคนที่เสริมมาเกิดการเคลื่อนที่ สามารถสังเกตอาการได้จาก หน้าอกข้างใดข้างหนึ่งหย่อนลงมามากกว่าอีกข้าง หรือสังเกตได้จากหัวนมที่จะชี้ลงต่ำกว่าปกติ
ซิลิโคนแตก มีอันตรายมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของซิลิโคน ถ้าเป็นซิลิโคนแบบถุงน้ำเกลือ เมื่อเกิดการแตกจะไม่อันตรายมากนัก เนื่องจากร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ แต่สำหรับผู้ที่เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนแบบเจล ไม่ควรมองข้ามปัญหาซิลิโคนแตก เพราะสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเมื่อซิลิโคนเจลแตก ร่างกายจะสร้างพังผืดขึ้นมา หรือเกิดก้อนแข็งจากต่อมน้ำเหลืองเข้าไปดักจับซิลิโคน อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อและเป็นมะเร็งได้ ผู้ที่เสริมหน้าอกควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการที่บ่งบอกว่าเสี่ยงต่อการที่ซิลิโคนแตก รั่ว หรือพลิกหรือไม่ เช่น ขนาดหน้าอกเล็กลงอย่างรวดเร็ว หน้าอกผิดรูปไปจากปกติ มีก้อนแข็งภายในเต้านม และรู้สึกเจ็บปวด แสบ ชา บริเวณหน้าอก ถ้าหากพบว่ามีความเสี่ยงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ ควรรีบเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุด โดยทาง Jarem Clinic มีบริการแก้ไขหน้าอก สำหรับผู้ที่พบปัญหาสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากศัลยแพทย์เฉพาะทางเสริมหน้าอกเพื่อทำการรักษาต่อไป