Gynecomastia ภาวะผู้ชายมีนมคืออะไร เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่

หน้าปกบทความผู้ชายมีนม

“Gynecomastia” หรือ ภาวะเต้านมโตในเพศชาย คือ ภาวะความผิดปกติ ที่ผู้ชายมีเต้านมขนาดใหญ่กว่าปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายทุกวัย แม้ภาวะผู้ชายมีนมจะไม่ได้ส่งผลร้ายแรงกับร่างกายมากเท่าไหร่นัก แต่อาจทำให้ผู้ชายหลายคนเกิดความวิตกกังวล อับอาย และไม่มั่นใจ จนสามารถส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้

ในบทความนี้ จะพาทุกคนมารู้จักกับ ภาวะ “Gynecomastia” หรือภาวะผู้ชายมีนม ว่าแท้จริงแล้วมีสาเหตุมาจากอะไร และมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง

ปัญหาผู้ชายมีนม

ทำความรู้จัก! Gynecomastia ภาวะเต้านมโตในเพศชาย คืออะไร และมีอาการบ่งชี้อะไรบ้าง

ภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia) คือ ภาวะที่มีเต้านมของผู้ชายขยายใหญ่จนเหมือนกับเต้านมในเพศหญิง ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับเต้านมเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับเพศชายในช่วงวัยเด็กไปจนถึงวัยสูงอายุ ส่วนใหญ่มักพบได้ในกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์

แม้ภาวะผู้ชายมีนมจะมีอาการบ่งชี้ที่ดูไม่รุนแรง แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง โดยอาการของภาวะเต้านมโตในเพศชาย มีดังนี้

อาการทางกายที่เกิดขึ้นได้ ไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง

  • อาการทั่วไป มีอาการเจ็บเต้านม และเต้านมมีอาการบวม รวมถึง เต้านมและหัวนมไวต่อความรู้สึก
  • อาการที่ควรไปพบแพทย์ เต้านมมีอาการเจ็บและบวมมากจนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และหัวนมเปลี่ยนตำแหน่ง รวมถึง มีความรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ เก็บตัว หรือมีอาการบ่งชี้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ ตามมา
ผู้ชายมีนมเกิดจากอะไร

Gynecomastia หรือผู้ชายมีนมเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีนม หรือมีภาวะ Gynecomastia เกิดจากทั้งปัจจัยภายใน และภายนอกร่างกาย ที่ ส่งผลให้เนื้อเยื่อเต้านมของเพศชายขยายใหญ่ขึ้น โดยสามารถแบ่งปัจจัยต่างๆ ออกเป็น ดังนี้

ผู้ที่มีความผิดปกติทางร่างกาย

ผู้ชายมีนมอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางร่างกาย โดยสามารถเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย เช่น

  • ฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล ในกรณีของภาวะเต้านมโตในเพศชาย หรือ “Gynecomastia” เกิดจากฮอร์โมนเพศหญิง (ฮอร์โมนเอสโตรเจน) และฮอร์โมนเพศชาย (ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน) ขาดความสมดุลกัน โดยปกติภายในร่างกายของทุกคนจะมีฮอร์โมนทั้งสองชนิด แต่จะมีฮอร์โมนเพศตรงข้ามในปริมาณที่น้อยกว่า ดังนั้น เมื่อร่างกายของผู้ชายมีการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงมากกว่า จึงส่งผลให้เต้านมขยายใหญ่ขึ้น
  • อายุ การเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงวัย สามารถทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ภายในร่างกายของเพศชายขาดความสมดุลได้ โดยในวัยแรกเกิดมักได้รับปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่วงที่อยู่ภายในครรภ์มารดา วัยแตกหนุ่มเป็นช่วงที่ร่างกายและฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงมาก ส่วนในกลุ่มที่มีอายุมาก และมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จะเกิดจากเซลล์ไขมันในร่างกายเพิ่มมาก ซึ่งส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
  • ความผิดปกติของโครโมโซม ผู้ชายมีนมบางเคสอาจเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมตั้งแต่กำเนิด เช่น มีลักษณะลูกอัณฑะเล็ก และพัฒนาการช้า ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเต้านมโตในเพศชาย ได้มากกว่าคนทั่วไป

ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรืออาการต่างๆ

ผู้ชายมีนมบางเคสก็มีสาเหตุมาจากโรคประจำตัว หรือเป็นอาการของโรคบางชนิด ที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เกิดเป็นภาวะเต้านมโตในเพศชาย ได้แก่

  • ภาวะไฮโปโกนาดิซึม (Hypogonadism) สภาวะที่ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนเพศชายออกมาไม่เพียงพอ
  • มีเนื้องอกบางชนิด ที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะสำคัญต่อการผลิตฮอร์โมนเพศ เช่น ต่อมใต้สมอง อัณฑะ หรือต่อมหมวกไต
  • ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีการหลั่งฮอร์โมนออกมาผิดปกติมากเกินความจำเป็น
  • โรคไต เพราะการล้างไตส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกายได้
  • โรคตับ การใช้ยาที่เกี่ยวกับการรักษาโรคตับ ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศ ทำให้เกิดภาวะเต้านมโตในเพศชายได้
  • โรคขาดสารอาหาร การขาดสารอาหารสำคัญบางตัวส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายลดลง แต่ฮอร์โมนเพศหญิงยังหลั่งในปริมาณเท่าเดิม จนเกิดความไม่สมดุลได้

ผู้ที่ทานยารักษาบางชนิด

สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีนม เกิดจากการทานยารักษาโรคบางชนิด โดยส่วนใหญ่เป็นยาที่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลของฮอร์โมนเพศ เช่น

  • ยาปฏิชีวนะ
  • ยารักษาต่อมลูกหมากโต
  • ยารักษาภาวะขาดฮอร์โมน
  • ยารักษาโรคเอดส์ HIV
  • ยาต้านซึมเศร้า
  • ยาคลายกังวล
  • ยารักษาโรคสมาธิสั้น
  • ยารักษาโรคหัวใจ
  • ยารักษาโรคกระเพาะอาหาร

ผู้ที่ได้รับสารผิดปกติบางชนิด

อีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายมีนม คือ การได้รับสารเคมีบางตัว การใช้สารเสพติด รวมไปถึง สมุนไพรบางชนิด
ที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนเพศในร่างกาย เช่น

  • แอลกอฮอล์ ในเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ไวน์ เบียร์ สุรา
  • สารสเตียรอยด์สำหรับสร้างกล้ามเนื้อ ที่นิยมใช้ในวงการกีฬา เพื่อเพิ่มกล้ามเนื้อ
  • ยาเสพติดต่างๆ เช่น ยาบ้า เฮโรอีน แอมเฟตามีน รวมไปถึงกัญชา
  • สารเมทาโดน ในยาระงับความเจ็บปวด
  • สมุนไพรบางชนิด เช่น น้ำมันจากพืช และน้ำมันลาเวนเดอร์ โดยมักอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ยาสระผม ครีมนวดผม ครีมอาบน้ำ โลชั่น
การรักษาภาวะผู้ชายมีนม

Gynecomastia อันตรายหรือไม่ สามารถรักษาได้ไหม

ภาวะ Gynecomastia หรือภาวะที่ทำให้ผู้ชายมีนม โดยปกติแล้วจะสามารถหายไปได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือนจนถึง 3 ปี ถึงแม้ว่าอาการของภาวะเต้านมโตในเพศชายส่วนใหญ่ไม่อันตราย และไม่รุนแรง แต่หากได้รับการรักษาที่เร็วและทันท่วงที ก็จะช่วยให้ภาวะดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้

โดยแพทย์จะมีการวินิจฉัยว่าปัญหาภาวะเต้านมโตในเพศชายอยู่ในระดับไหน และส่วนประกอบในเต้านมที่โตขึ้นนั้นมีส่วนประกอบใดบ้าง ระหว่างเนื้อเยื่อเต้านมและไขมัน เพื่อวางแผนและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุด โดยในปัจจุบันวิธีรักษาภาวะเต้านมโตในเพศชายสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี ดังนี้

การรักษาด้วยยา

วิธีแรกในการรักษาภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia) คือ การรับประทานยา โดยมักใช้เป็นวิธีการรักษาสำหรับคนที่ยังไม่เคยรักษาภาวะนี้มาก่อน โดยตัวยาที่ใช้จะไม่ใช่ยาลดขนาดเต้านมโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการใช้ตัวยาที่ส่งผลกับระดับฮอร์โมน เพื่อปรับฮอร์โมนเพศให้สมดุลนั่นเอง ซึ่งตัวยาหลักๆ ที่แพทย์นิยมใช้ ได้แก่

  • ฮอร์โมนทดแทน เพื่อเติมฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน เข้าไปให้ฮอร์โมนเพศสมดุลกัน
  • กลุ่มยาเซิร์ม ใช้สำหรับช่วยลดอาการเจ็บปวดเต้านมรุนแรง และช่วยลดขนาดเต้านมได้ โดยไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 6 เดือน
  • ยาดานาซอล เป็นการใช้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสังเคราะห์เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เข้าไปลดระดับฮอร์โมนเอสโตเจนลง

การรักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาภาวะเต้านมโตในเพศชายด้วยการผ่าตัด จะใช้วิธีการผ่าตัดแก้ไขหน้าอก สำหรับผู้ชายมีนมที่เคยรักษาด้วยการกินยามาก่อน แต่ไม่ได้ผล หรือคนที่มีอาการเจ็บหรือปวดเต้านมอย่างรุนแรง และต้องรีบทำการรักษาโดยด่วน โดยการผ่าตัดแก้ไขหน้าอก จะแบ่งได้เป็น 2 แบบ ดังนี้

การผ่าตัดเนื้อเยื่อเต้านม

การผ่าตัดเนื้อเยื่อเต้านม เป็นวิธีการผ่าตัดแก้ไขเต้านมโตให้มีขนาดเล็กลง โดยนำเนื้อเยื่อเต้านม และไขมันออก ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ชายมีนมที่แพทย์วิเคราะห์แล้วว่า ภาวะเต้านมโตในเพศชายเกิดจากเนื้อเยื่อเต้านมและไขมัน โดยก่อนการผ่าตัดแพทย์จะทำการประเมินและวิเคราะห์ขนาดของเต้านม และตำแหน่งหัวนม เพื่อดูว่าจะต้องนำก้อนเนื้อนมและไขมันออกในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะพอดี ไม่ทำให้เต้านมยุบ หรือบุ๋มลงไป

การผ่าตัดด้วยการดูดไขมัน

การผ่าตัดด้วยวิธีการดูดไขมันเพื่อลดขนาดเต้านม จะเป็นวิธีการรักษาที่นำไขมันออกเพียงอย่างเดียว ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ชายมีนมที่แพทย์วิเคราะห์แล้วว่า ส่วนประกอบในเต้านมส่วนใหญ่เป็นก้อนไขมัน ถือเป็นวิธีการรักษาที่มีแผลขนาดเล็กกว่า

การดูแลตัวเองหลังการรักษาภาวะผู้ชายมีนม

การดูแลตัวเองหลังการรักษาภาวะผู้ชายมีนม

สำหรับคนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดลดขนาดหน้าอก เพื่อแก้ภาวะเต้านมโตในเพศชายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถึงแม้จะเป็นการผ่าตัดเล็ก แต่ก็ควรพักฟื้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้แผลผ่าตัดสมานอย่างรวดเร็ว และไม่เกิดปัญหาภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา เช่น การอักเสบ และติดเชื้อ

โดยปกติหลังจากการผ่าตัด จะมีอาการบวมอยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งวิธีดูแลหลังการรักษาภาวะผู้ชายมีนม มีดังนี้

  • นอนพักหลังการผ่าตัดเสร็จเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
  • ทำแผลทุกวัน ตามคำแนะนำของแพทย์
  • ห้ามให้แผลโดนน้ำเด็ดขาด
  • กินยาตามคำสั่งแพทย์ให้ครบ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  • งดอาหารสแลง เช่น อาหารหมักดอง อาหารสุกๆ ดิบๆ
  • งดกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ
  • งดออกกำลังกายหนักๆ หรือกิจกรรมที่มีการปะทะกันเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดออก ควรรีบเข้าปรึกษาแพทย์ทันที

จะเห็นว่าภาวะที่ผู้ชายมีนม หรือภาวะเต้านมโตในเพศชาย (Gynecomastia) เหมือนจะเป็นปัญหาเล็กๆ ที่ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงต่อร่างกาย แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน และส่งผลต่อจิตใจในระยะยาวได้ สำหรับใครที่เกิดความผิดปกติจำเป็นต้องเข้าปรึกษากับแพทย์ เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น การกินยา หรือการผ่าตัด โดยที่ Jarem Clinic ซึ่งเป็นคลินิกศัลยกรรม มีบริการผ่าตัดแก้ไขหน้าอก ด้วยแพทย์ผู้มากประสบการณ์

บทความโดย

นพ. พลเดช สุวรรณอาภา

ศัลยแพทย์ เฉพาะทางเสริมหน้าอก

"ผู้ชายหน้าอกใหญ่ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เริ่มต้นอาจเกิดจากน้ำหนักที่เกินหรือฮอร์โมนเพศชายที่น้อยลง ถ้าแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไปแล้ว หน้าอกยังใหญ่อยู่ การผ่าตัดก็เป็นทางเลือกที่ช่วยแก้ปัญหาได้ดี แต่จะมีรอยแผลผ่าตัดมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดไขมันที่ตัดออกไป"

บทความเกี่ยวข้อง