มะเร็งเต้านมเป็นภัยร้ายที่คุกคามชีวิตของผู้หญิงทั่วโลก ในประเทศไทยพบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้มากเป็นอันดับ 1 ถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของผู้หญิง และยังพบว่ามีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องในวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันมะเร็งเต้านมสากล เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงภัยของมะเร็งเต้านมและใส่ใจต่อสุขภาพของตัวเองมากยิ่งขึ้น บทความนี้จะพาไปรู้จักว่ามะเร็งเต้านมคืออะไร สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค รวมทั้งวิธีการสังเกตอาการและการรักษา ทำได้อย่างไร ไปดูกันเลย
เนื้อหาที่น่าสนใจ
ทำความรู้จัก มะเร็งเต้านม คืออะไร
มะเร็งเต้านม คือมะเร็งที่เกิดจากการความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ท่อน้ำนมและต่อมน้ำนม โดยพบว่าเซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติแบบไม่สามารถควบคุมได้ และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมทั้งสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นที่ไกลออกไปผ่านทางเส้นเลือดและระบบน้ำเหลือง
สาเหตุของมะเร็งเต้านม เกิดจากอะไร
ในปัจจุบัน สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งเต้านมยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ก็พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่
- การเกิดมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของระดับฮอร์โมนเพศหญิง จึงทำให้เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้มากกว่าเพศชาย
- อายุที่มากขึ้นในเพศหญิงก็มีส่วนทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ โดยมักพบในเพศหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงที่มีประวัติใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี หรือหมดประจำเดือนช้าหลังจากอายุ 55 ปี
- ผู้ที่มีประวัติการรักษาด้วยการฉายรังสีบริเวณหน้าอกในปริมาณมากในวัยเด็ก หรืออายุน้อยกว่า 30 ปี
- ผู้หญิงที่มีครอบครัวสายตรงหรือญาติใกล้ชิดมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม
- ผู้ที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง มีโอกาสที่จะเป็นอีกข้างหนึ่งได้
- ผู้ที่มีภาวะอ้วน ลงพุง หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะในวัยหลังหมดประจำเดือน ไม่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- การรับประทานอาหารแคลอรีสูง สูบบุหรี่ และบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
ผู้ชายก็สามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้
ในเพศชาย พบว่าสามารถเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน ถึงแม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยเพียง 0.5-1% มะเร็งเต้านมในเพศชายสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบได้น้อยในเด็ก และพบได้บ่อยในเพศชายอายุ 60 ปีขึ้นไป เกิดจากการที่เซลล์เต้านมมีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติ และมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่น ผู้ชายที่มีความเสี่ยงสูงส่วนใหญ่มักพบในคนที่มีครอบครัวสายตรงมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม เป็นผู้ที่มีฮอร์โมนเพศหญิงสูงกว่าปกติตั้งแต่กำเนิด มีความผิดปกติของลูกอัณฑะที่ส่งผลทำให้ฮอร์โมนเพศชายในร่างกายลดลง เป็นต้น
มะเร็งเต้านมมีกี่ประเภท อะไรบ้าง
มะเร็งเต้านมสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะทางจุลภาคของเซลล์มะเร็ง โดยประเภทของมะเร็งเต้านมที่พบบ่อยได้แก่
มะเร็งเต้านมประเภทไม่ลุกลาม (Non-invasive breast cancers)
มะเร็งเต้านมแบบไม่ลุกลาม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
- มะเร็งเต้านมแบบไม่ลุกลามออกนอกท่อน้ำนม (DCIS) เป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดจากเซลล์ที่ผิดปกติของท่อน้ำนม โดยมะเร็งชนิดนี้ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่ ก็จะไม่มีการลุกลามออกนอกท่อน้ำนมไปยังตำแหน่งอื่น แต่ก็พบว่าหากไม่ทำการรักษา ก็มีโอกาสพัฒนากลายเป็นแบบลุกลามได้ประมาณ 20-50%
- มะเร็งต่อมน้ำนมแบบไม่ลุกลาม (LCIS) เกิดจากเซลล์ผิดปกติที่เกิดขึ้นในต่อมน้ำนม และไม่แพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อส่วนอื่น มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งชนิดลุกลามได้
มะเร็งเต้านมประเภทลุกลาม (Non-invasive breast cancers)
มะเร็งเต้านมประเภทลุกลามมี 2 ประเภท ได้แก่
- มะเร็งเต้านมแบบลุกลามออกนอกท่อน้ำนม (IDC) เป็นมะเร็งเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุดกว่า 80% มะเร็งชนิดนี้เริ่มขึ้นจากท่อน้ำนม จากนั้นจึงลุกลามผ่านผนังท่อ ไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง และแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆผ่านทางระบบเลือดและน้ำเหลือง
- มะเร็งต่อมน้ำนมแบบลุกลาม (ILC) มะเร็งเต้านมชนิดนี้พบได้ประมาณ 10-15% เกิดขึ้นจากต่อมผลิตน้ำนม และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมทั้งอวัยวะส่วนอื่นได้ ก้อนมะเร็งมักมีลักษณะเฉพาะ คือมีขอบเขตชัดเจน ไม่แข็งมาก และมีขนาดใหญ่
มะเร็งเต้านมที่พบได้น้อย
มะเร็งเต้านมที่พบได้บ้างแต่น้อยมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ดังนี้
- มะเร็งหัวนม (Paget’s disease of the nipple) มะเร็งหัวนม เป็นมะเร็งที่พบได้น้อยมากประมาณ 1% โดยอาการจะพบผิวหนังอักเสบ มีผื่นแดง ตกสะเก็ด เป็นรอยไหม้ คัน และปวด บริเวณหัวนมหรือขยายไปยังบริเวณปานนม อาจพบมีของเหลวออกมาจากหัวนมด้วย
- มะเร็งเต้านมอักเสบ (Inflammatory breast cancer) ลักษณะสำคัญของมะเร็งเต้านมอักเสบคือมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณเต้านม เวลากดแล้วรู้สึกเจ็บ มีรอยบุ๋มหรือรอยนูนคล้ายผิวส้ม เกิดจากการที่มีเซลล์มะเร็งลุกลามมายังผิวหนังและอุดตันท่อน้ำเหลืองบริเวณเต้านม พบได้น้อยแต่มีความรุนแรง มีโอกาสสูงที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งชนิด IDC หรือ ILC
- ก้อนเนื้องอกชนิดกึ่งมะเร็งบนเต้านม (Phyllodes tumours of the breast) เป็นก้อนเนื้องอก ที่มีลักษณะเด่นคือโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มักพบเป็นก้อนเดี่ยว ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บปวด และไม่ใช่ก้อนมะเร็ง พบได้น้อย แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา จะบวมปูดจนเห็นได้ชัดเจน หากก้อนโตมากจนเบียดผิวหนังจะทำให้บริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงจนเกิดเป็นแผลแตก มักไม่พบการเปลี่ยนแปลงของหัวนมและปานนม
มะเร็งหัวนมเหมือนกับมะเร็งเต้านมหรือไม่
มะเร็งหัวนมมีลักษณะและอาการคล้ายกับมะเร็งเต้านมคือเป็นมะเร็งที่เกิดจากการพัฒนามาจากท่อในเต้านมและลุกลามมาที่ผิวหนังบริเวณลานนมและหัวนม สามารถลุกลามทางระบบเลือดและต่อมน้ำเหลือง และแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายได้ การรักษามะเร็งหัวนมจึงเหมือนกับการรักษามะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม มีกี่ระยะ
มะเร็งเต้านมแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 : ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งมีขนาด 2-5 เซนติเมตร อาจพบการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือไม่ก็ได้ แต่ยังไม่พบการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
- ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองรักแร้ข้างเดียวจำนวนหลายต่อม จนรวมกันเป็นก้อนใหญ่ อาจพบการแตกเป็นแผลบริเวณผิวหนัง แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
- ระยะที่ 4 : พบมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นในร่างกายที่ไกลออกไปเช่น ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น
สังเกตอาการของมะเร็งเต้านม เป็นยังไง
อาการมะเร็งเต้านมที่พบได้บ่อย สามารถสังเกตได้จาก
- พบก้อนบริเวณเต้านมหรือใต้รักแร้ โดยก้อนเนื้อที่พบอาจกดแล้วเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้
- ขนาดรูปร่างของเต้านมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เต้านมทั้งสองข้างมีขนาดแตกต่างกันอย่างชัดเจน ไม่อยู่ในระดับเดียวกัน
- ผิวหนังที่เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น บุ๋มลง หดตัว บวมหนาขึ้นเหมือนเปลือกส้ม เป็นผื่นแดง แสบและคัน เป็นต้น รวมถึงสีและผิวหนังบริเวณลานหัวนมเปลี่ยนไปจากเดิม
- มีน้ำเหลือง หรือของเหลวสีคล้ายเลือด ไหลออกมาจากหัวนม
- มีอาการเจ็บที่ผิดปกติบริเวณเต้านมในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน
วิธีตรวจมะเร็งเต้านม ทำได้อย่างไรบ้าง
สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้แนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยมีวิธีตรวจมะเร็งเต้านม 3 วิธีดังนี้
ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง
ทำการตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยการคลำเต้านมเป็นประจำทุกเดือน และควรตรวจในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ทราบถึงความผิดปกติและเข้ารับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ 7-10 วัน หลังจากมีประจำเดือนวันแรก โดยการคลำเต้านมสามารถทำได้ดังนี้
วิธีคลำเต้านมที่ถูกต้อง เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม
วิธีการคลำเต้านมเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ทำได้ดังนี้
- ยกแขนข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจไว้เหนือศีรษะ
- ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนางของมืออีกข้าง โดยใช้ส่วนของปลายนิ้วกดลงบนเต้านม
- การคลำเต้านมสามารถคลำได้ทั้งเป็นวงกลมจากหัวนมวนตามเข็มนาฬิกาออกไป คลำไล่ขึ้นลงจากใต้ราวนมถึงกระดูกไหปลาร้า หรือคลำเป็นแนวรัศมีจากหัวนมออกไปด้านนอก ที่สำคัญคือต้องคลำให้ครบทุกพื้นที่ของเต้านม และคลำทั้งสองข้าง
- ใช้มือบีบลานนม หรือ หัวนมเบาๆ ดูว่ามีสารคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่
ตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์
ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมปีละ 1 ครั้ง การตรวจคัดกรองโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ร่วมกับการซักประวัติ จะให้ผลการวินิจฉัยที่มีความแม่นยำยิ่งขึ้น
ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม (Mammography)
เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ได้ผลดีที่สุดในปัจจุบัน สามารถตรวจพบความผิดปกติ และรอยโรคขนาดเล็กได้ เป็นการใช้วิธีถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมเพื่อตรวจดูความผิดปกติด้วยเครื่องมือเฉพาะ โดยทำการกดเต้านมให้แบนราบที่สุด แล้วทำการถ่ายภาพเต้านมข้างละ 2 ท่า อาจมีการทำอัลตร้าซาวน์ร่วมด้วย โดยควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำทุกปี
รักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีใดได้บ้าง
การรักษามะเร็งเต้านมสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
รักษาด้วยการผ่าตัด
การผ่าตัดรักษาจะมีอยู่สองลักษณะ คือการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม เป็นการผ่าตัดเอาเฉพาะส่วนของก้อนมะเร็งและเนื้อเยื่อรอบๆ ออก จะใช้ในกรณีตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรก ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่ใหญ่มาก และยังไม่พบการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง กรณีที่ผู้ป่วยที่มะเร็งอยู่ในระยะลุกลามออกไปสู่ต่อมน้ำเหลือง จะใช้วิธีการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ด้วย
รักษาด้วยการทำคีโมบำบัด
การรักษาโดยการทำคีโมบำบัด เป็นการให้ยาที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีผลออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายและกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจหลงเหลืออยู่และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ใช้ในการรักษาโรค หรือประคับประคองให้มีระยะปลอดโรคให้ได้นานที่สุด
รักษาด้วยการทำภูมิคุ้มกันบำบัด
เป็นวิธีการใช้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเข้าต่อสู้กับเซลล์มะเร็งโดยการให้สารที่มีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายให้เข้าไปกำจัดเซลล์มะเร็งหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาโดยใช้ทีเซลล์บำบัด (T-Cell Therapy) วัคซีนโรคมะเร็ง ไวรัสรักษามะเร็ง (Oncolytic Virus Therapy) หรือ ยากลุ่ม Immune Check Point Inhibitor เป็นต้น
รักษาด้วยการฉายแสง
เป็นการรักษาโดยใช้รังสีที่มีพลังงานสูงไปยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเฉพาะที่ รวมทั้งทำลายเส้นเลือดที่นำสารอาหารมาเลี้ยงเซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้ด้วย เป็นการควบคุมโรค ป้องกันการแพร่กระจายและการกลับมาเป็นซ้ำอีก มักใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัดเก็บเต้านม รวมถึงในรายที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมีการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองน
รักษาด้วยการทำฮอร์โมนบำบัด
ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยว่าเซลล์มะเร็งเต้านมนั้นเป็นชนิดที่มีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงถูกกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์และเจริญเติบโตด้วยฮอร์โมนดังกล่าว แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยาต้านฮอร์โมน โดยจะให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อเนื่องประมาณ 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับอาการของโรค ยาต้านฮอร์โมนจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมน และยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน
ทำหน้าอกหลังรักษามะเร็งเต้านมได้ไหม
หลังการผ่าตัดเต้านมเพื่อรักษามะเร็งเต้านม สามารถทำการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ได้ โดยอาจทำในเวลาเดียวกับการผ่าตัดเต้านมออก หรือทำในภายหลังก็ได้ อย่างไรก็ตามก็มีข้อห้ามสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องการเสริมหน้าอกดังนี้
- ผู้ป่วยที่ยังรักษาไม่หายขาดจากโรค
- แพทย์วินิจฉัยว่าเนื้อบริเวณหน้าอกไม่เหมาะต่อการเสริมหน้าอก
- ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้ผ่าเอาก้อนมะเร็ง หรือเต้านมเดิมออก
- ผู้ป่วยที่มีผิวบางมากมีความเสี่ยงต่อการที่เลือดไปเลี้ยงหน้าอกไม่พอระหว่างการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่มีประวัติการแพ้ต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย
- ผู้ป่วยที่เคยเสริมเต้านมมาแล้วแต่พบผลข้างเคียง ไม่สามารถทำได้
มะเร็งเต้านมคือ มะเร็งที่เกิดจากการความผิดปกติของเซลล์เต้านมโดยเฉพาะในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม โดยเซลล์มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วผิดปกติไม่สามารถควบคุมได้ และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อใกล้เคียง รวมทั้งสามารถแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นได้ แม้สาเหตุการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง เช่น เพศหญิงพบได้มากกว่าเพศชาย ผู้ที่มีครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็ง มีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน เป็นต้น ส่วนการรักษาก็มีอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการของโรค โดยการรักษาที่ได้ผลดีที่สุดคือการผ่าตัดเต้านม อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านม มักได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ ส่งผลเสียต่อรูปลักษณ์ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ ดังนั้น การเสริมสร้างเต้านมใหม่จึงเป็นตัวช่วยในการเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมาได้ ผู้ที่ผ่าตัดเต้านมสามารถผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ได้ในเวลาเดียวกับการผ่าตัดเอาเต้านมออก หรือ ทำในภายหลังได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
สำหรับผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมทรวงอก ที่ Jarem เรามีศัลยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์การทำศัลยกรรมทรวงอกมาอย่างยาวนาน สามารถออกแบบรูปทรงและขนาดของทรวงอกที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ทำหัตถการด้วยเทคนิคเฉพาะพร้อมใส่ใจรายละเอียดในทุกขั้นตอน จนมั่นใจได้ว่าจะได้ผลลัพธ์เป็นทรวงอกที่ได้รูปสวยเป็นธรรมชาติตรงกับความต้องการ