โรคตาขี้เกียจมีจริงไหม? เกิดจากสาเหตุอะไร สามารถรักษาได้หรือไม่?

หน้าปกบทความโรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจเป็นภาวะความผิดปกติ ที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยที่บางครั้งลักษณะอาการก็อาจสังเกตเห็นได้ยาก ซึ่งคำถามว่าโรคตาขี้เกียจคืออะไร ตาขี้เกียจรักษาหายได้ไหม หรือแม้แต่โรคตาขี้เกียจนี้เกิดจากอะไร

บทความนี้ ได้รวบรวมคำตอบที่หลายคนอยากรู้ไว้เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีคำตอบกับคำถามเหล่านี้ทั้งสิ้นในบทความนี้

โรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจ คืออะไร?

โรคตาขี้เกียจ (Lazy Eye หรือ Amblyopia) เป็นภาวะที่ดวงตาทั้งสองข้างมีการทำงานไม่เท่ากัน โดยดวงตาข้างที่มีปัญหาจะทำงานได้น้อยลงและเริ่มพร่ามัว เนื่องจากพัฒนาการด้านการมองเห็นเริ่มสูญเสีย หากปล่อยไว้จะมีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นตาขี้เกียจชนิดที่พบบ่อยที่สุด พบได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 2 – 7 ปี โดยโรคนี้สามารถเป็นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นในภายหลัง ส่งผลให้ในกรณีของผู้ป่วยเด็กบางราย ผู้ปกครองไม่สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือในบางรายอาจตรวจพบปัญหาสายตาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว

ผู้ป่วยโรคตาขี้เกียจบางราย อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการรับรู้เชิงลึกและการมองระยะไกล เนื่องจากตาด้านใดด้านหนึ่งโฟกัสวัตถุไม่ได้ สมองจึงพยายามชดเชยการมองเห็นด้วยการโฟกัสไปที่วัตถุใกล้ๆ แทนวัตถุที่อยู่ไกลออกไป จึงมองเห็นเป็นภาพซ้อน เมื่อมองสิ่งที่อยู่ไกล เช่น ผู้ป่วยอาจมีปัญหาในการมองตัวอักษรบนกระดาน หรือจอคอมพิวเตอร์ เพราะตัวอักษรไม่ชัดเจนหรือไม่อยู่ในระยะโฟกัส

โดยเบื้องต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการมองเห็น จะได้รับแว่นตาสายตาหรือคอนแทคเลนส์ เพื่อให้กลับมามองเห็นได้ชัดเจนอีกครั้ง แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหลังจากใส่แว่นเป็นเวลาหลายเดือน อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่ามีปัญหาการมองเห็น หรือเป็นโรคตาขี้เกียจได้เช่นกัน

โรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจเกิดจากสาเหตุอะไร?

โรคตาขี้เกียจเกิดจากตาข้างหนึ่งทำงานร่วมกับอีกข้างหนึ่งได้ไม่ดี ภาวะนี้อาจเป็นมาแต่กำเนิด แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในภายหลังอันเป็นผลมาจากการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อได้ โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ มีดังนี้

ภาวะสายตาไม่ปกติ

บางคนมีรูม่านตาเล็กผิดปกติในตาขวาหรือตาซ้าย ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมองเห็นได้ดีกว่าจากดวงตาด้านที่มีความแข็งแรงกว่า เพราะดวงตาด้านที่มีปัญหาจะได้รับแสงไม่เพียงพอ ทำให้พัฒนาการของดวงตาทั้งสองข้างไม่สมดุลกัน จนอาจเกิดปัญหาการมองภาพพร่ามัวได้ เพราะใช้ตาข้างที่ดีกว่าในการมองเป็นหลัก และเกิดโรคตาขี้เกียจตามมา

ภาวะตาเข หรือตาเหล่

ภาวะตาเข หรือตาเหล่ คือ ความผิดปกติของดวงตาที่ทำให้ลูกตามองเฉียงข้างใดข้างหนึ่งแทนที่จะมองตรง เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้น สมองจะได้ภาพจากตาข้างเดียวเท่านั้นในการรับข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังดูอยู่ เป็นสาเหตุที่ภาพที่มองเห็นจะไม่ชัดเจน และอาจนำไปสู่การมองเห็นภาพซ้อน หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ และก่อให้เกิดตาขี้เกียจได้

ภาวะหนังตาตก

อาการหนังตาตกเกิดเนื่องจากกล้ามเนื้อรอบลูกตาอ่อนแรง ไม่มีที่รองรับเพียงพอ ฝาด้านบนตกลงมาทับฝาด้านล่าง บดบังการมองเห็นของดวงตา ส่งผลให้การรวมแสงไม่ตกบนจอตา และก่อให้เกิดความพร่ามัวในการมองเห็นตามมา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดโรคตาขี้เกียจ

โรคบดบังการมองเห็น

การมีสิ่งกีดขวางการมองเห็น เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาลอก ม่านตาอักเสบ จอประสาทตาเสื่อม และโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทตา เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะเหล่านี้ทำให้เรตินา หรือจอประสาทตาเสียหาย จึงทำให้ภาพไม่สามารถผ่านได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้ลานสายตาบางส่วนได้รับแสงไม่เพียงพอ สิ่งนี้นำไปสู่การมองเห็นไม่ชัดหรือบิดเบี้ยว ซึ่งก่อให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้

อาการของโรคตาขี้เกียจ

อาการของโรคตาขี้เกียจที่สังเกตได้

สำหรับผู้ที่มีอาการเหล่านี้ อาจเป็นข้อบ่งชี้ว่า มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา หรืออาจเป็นโรคตาขี้เกียจได้ ในกรณีของเด็กที่มีภาวะตาขี้เกียจควรได้รับการตรวจโดยกุมารแพทย์ทันที แม้ว่าเด็กจะไม่บ่นเกี่ยวกับปัญหาสายตา แต่ผู้ปกครองอาจสังเกตเห็นสิ่งผิดปกติระหว่างทำกิจกรรมประจำวันได้ ตัวอย่างเช่น

  • มองเห็นสิ่งที่อยู่ไกลได้ลำบาก
  • ความพร่ามัวในบางสถานที่
  • การรับรู้เชิงลึกไม่ดี และมองเห็นระยะไกลไม่ชัดเจน
  • ดวงตาเบนเข้าด้านในหรือออกด้านนอก
  • มีอาการตาเหล่
  • หรี่ตามองของ หรือเอียงหัวมองของบ่อยๆ

ตาขี้เกียจผู้ใหญ่ VS ตาขี้เกียจในเด็ก เหมือนกันไหม?

โรคตาขี้เกียจเป็นความผิดปกติที่สามารถเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีความคล้ายคลึงกันในหลายด้าน เช่น อาการของโรค แต่ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างตาขี้เกียจในเด็กและตาขี้เกียจในผู้ใหญ่อยู่ที่ ในกรณีของเด็กสามารถเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์และมีความผิดปกติแต่กำเนิดได้

ในขณะที่กรณีของผู้ใหญ่นั้นอาจเกิดจากโรคหรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น นอนเล่นโทรศัพท์โดยที่ตาข้างหนึ่งถูกหมอนปิดอยู่ ซึ่งจะทำให้ดวงตาเสียสมรรถภาพไปในภายหลัง หรืออาจจะเกิดจากอาการตาขี้เกียจที่มีมาตั้งแต่เด็กโดยที่ไม่เคยรักษาหรือรู้ตัว จนกระทั่งอาการแย่ขึ้นตอนเป็นผู้ใหญ่

การรักษาโรคตาขี้เกียจ

โรคตาขี้เกียจรักษาให้หายได้ไหม?

โรคตาขี้เกียจสามารถแก้ไขได้ หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาให้ถูกวิธี โดยการรักษาตาขี้เกียจนั้นในเบื้องต้น จะมุ่งเน้นทำให้ตาข้างที่มีปัญหาทำงานและแข็งแรงมากขึ้น โดยให้ผู้ป่วยเริ่มโฟกัสวัตถุที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งจะช่วยให้ตาขี้เกียจมีอาการน้อยลงและหายไปในที่สุด

หากต้องการทราบว่าจะใช้เวลานานเท่าใดในการรักษาโรคตาขี้เกียจ คำตอบนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ข้อจำกัดของร่างกายคนไข้ และความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ ในการรักษาให้หายขาด จำเป็นต้องได้รับการบำบัดหลายครั้ง และมีวินัยในการดูแลตัวเอง ซึ่งโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาอยู่ที่ 6 เดือน – 2 ปี ถึงจะสามารถมองเห็นได้เป็นปกติ โดยวิธีที่แพทย์ใช้ในการรักษาโรคตาขี้เกียจมีหลายวิธี เช่น

ปิดตาข้างที่ปกติ

การปิดตาข้างที่ปกติ จะช่วยกระตุ้นให้ดวงตาข้างที่มีปัญหามีการเคลื่อนไหวและทำงานมากขึ้น โดยในช่วงที่มีการใช้สายตามาก แพทย์จะแนะนำให้ปิดตาข้างที่เป็นปกติหรือมีความแข็งแรงมากกว่าด้วยแผ่นแปะกาว เพื่อทำให้ดวงตาข้างที่มีปัญหาปรับตัวให้คุ้นเคยกับการมองสิ่งต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-6 ชั่วโมงต่อวัน โดยการรักษาด้วยกระบวนการนี้จะทำติดต่อกันจนกว่าดวงตาข้างที่มีปัญหาจะสามารถโฟกัสวัตถุได้

สวมใส่แว่นตา หรือคอนแทคเลนส์

การสวมเลนส์ปรับสายตาจะช่วยเพิ่มคุณภาพการมองเห็นให้กับสายตาที่ขี้เกียจได้ ซึ่งจะต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์อย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยที่ใส่ทุกครั้งที่ตื่นนอน จะช่วยทำให้ดวงตาข้างที่มีปัญหาทำงานมากขึ้น และสามารถมองเห็นได้ใกล้เคียงกับปกติได้

ใช้ยาหยอดตา

ยาหยอดตาบางชนิดที่มีส่วนประกอบของสารอะโทรปีน ที่จะสร้างความมัวชั่วคราวกับการมองเห็น โดยการรักษาโรคตาขี้เกียจด้วยวิธีนี้ จะใช้การหยอดยาดังกล่าวลงในตาข้างที่เป็นปกติประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อที่จะให้โอกาศตาข้างที่มีปัญหาได้ทำงานและปรับตัวให้เป็นปกติ

รักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาโรคตาขี้เกียจด้วยการผ่าตัด เป็นวิธีที่แพทย์จะพิจารณาทำเมื่อการรักษาด้วยวิธีการอื่นไม่สัมฤทธิ์ผล หรืออาการของโรคมีสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับรูปร่างของดวงตาโดยตรง เช่น ตาเข หรือตาเหล่ หนังตาตก ซึ่งการผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อตาควรปรึกษาจักษุแพทย์ที่มากประสบการณ์ เพื่อที่จะได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

วิธีป้องกันโรคตาขี้เกียจ

วิธีป้องกันโรคตาขี้เกียจที่สามารถทำได้ง่ายๆ

แม้โรคตาขี้เกียจจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็เป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นได้อีกเช่นกัน โดยวิธีป้องกันโรคตาขี้เกียจนั้นมีอยู่มากมาย ที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กก็ตาม เช่น

  • ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ต้องใช้ดวงตาเพ่งมองบ่อยๆ เพราะเป็นการสร้างแรงกดดันที่กล้ามเนื้อตา เช่น การทำทรงผม หรือสวมหมวกที่บดบังช่วงตา
  • พบจักษุแพทย์ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เมื่อไปพบจักษุแพทย์เป็นประจำ ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติของสายตาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งช่วยให้มีโอกาสดำเนินการรักษา หรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้
  • หมั่นออกกำลังกล้ามเนื้อตา เนื่องจากกล้ามเนื้อตาอาจอ่อนแอลงตามอายุ ส่งผลให้การมองเห็นแย่ลง การหมั่นออกกำลังกายดวงตาเป็นประจำ จะช่วยรักษาสุขภาพดวงตาให้แข็งแรงและเป็นปกติได้
  • คอยสังเกตอาการของตัวเอง หรือคนรอบข้างอยู่เสมอ เพิ่มโอกาสในการสังเกตถึงปัญหา เพื่อที่จะดำเนินการรักษาและป้องกันได้อย่างรวดเร็วเมื่อเริ่มมีอาการ

โรคตาขี้เกียจ คือ โรคที่ทำให้ดวงตามีประสิทธิภาพแย่ลง ที่สามารถพบได้ทั้งในวัยเด็ก และผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงควรป้องกันให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการหมั่นสังเกตอาการที่สื่อว่าจะเป็นตาขี้เกียจ และเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจได้ แต่เมื่อเป็นโรคตาขี้เกียจนี้แล้วก็สามารถรักษาให้หายได้ ไม่ว่าจะทำผ่านเครื่องมือช่วยเหลือต่างๆ หรือการเข้าพบแพทย์เพื่อรับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจจะทำให้อาการแย่ขึ้นและรักษายากขึ้นเรื่อยๆ

บทความเกี่ยวข้อง