เสริมหน้าอกใต้กล้ามเนื้อ คืออะไร?
เรื่องเสริมหน้าอก “เหนือกล้ามเนื้อหรือใต้กล้ามเนื้อ” เหมือนๆจะมีข้อมูลที่พอหาอ่านได้ใน internet อยู่บ้าง หมอเลยไม่ค่อยเน้นเรื่องนี้เท่าไหร่นัก หมอเข้าใจว่าคนไข้พอรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะมี inbox เข้ามาหาหมออยู่เรื่อยๆเลยว่าต้องการผ่าตัดเสริมหน้าอกแบบ “ใต้กล้ามเนื้อ” แต่พอหมอถามๆไปตอนตรวจ กลับได้คำตอบว่า คือหนูเชื่อว่าทำแบบ “ใต้กล้ามเนื้อ” ดี แต่ไม่รู้เหมือนกันค่ะว่าดียังไง เพื่อนบอกว่าดีกัน และมีเคสนึงมาปรึกษาทำหน้าอกกับหมอ แต่น้องเขาเข้าใจว่าเสริม “ใต้กล้ามเนื้อ” คือ “มีแผลตรงใต้ราวนม” และเสริม “เหนือกล้ามเนื้อ” คือ “มีแผลตรงรักแร้” พอหมอได้ปรึกษาหลายๆเคสแล้วทำให้รู้ว่ามีคนไข้หลายคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้พอสมควร “ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ” วันนี้หมอจะมาอธิบายให้ฟังว่าการเสริมหน้าอกเหนือกล้ามเนื้อหรือใต้กล้ามเนื้อคืออะไร?
ร่างกายของเราส่วนที่ปกคลุมอวัยวะภายใน มีอะไรบ้าง?
- ผิวหนัง
- ชั้นไขมัน
- กล้ามเนื้อ
- โครงกระดูก
และบริเวณส่วนที่หน้าอกที่ปกคลุมหัวใจและปอดของเราก็เช่นกัน นับจากชั้นนอกสุดไปในสุดนะครับ
- ผิวหนัง (Skin)
- เนื้อนม (Breast Tissue)
- กล้ามเนื้อ (Muscle)
- กระดูกซี่โครง (Ribs)
- อวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ปอด เป็นต้น
การวางซิลิโคนเสริมหน้าอกสามารถวางไว้ชั้นไหนในร่างกายได้บ้าง?
1. วาง “เหนือกล้ามเนื้อ” Sub Grandular คือ?
การวางซิลิโคนไว้ระหว่างชั้น 2-3 คือ เนื้อนม – กล้ามเนื้อ
2. วาง “ใต้กล้ามเนื้อ” Sub Muscular คือ?
การวางซิลิโคนไว้ระหว่างชั้น 3-4 คือ กล้ามเนื้อ – ซี่โครง นั่นเอง
กล้ามเนื้อหน้าอกไม่ได้เป็นรูปทรงก้อนๆเหมือนกล้ามเนื้อที่แขน กล้ามเนื้อหน้าอกจะเป็นแผ่นๆเป็นชั้นๆไปคลุมกระดูกซี่โครงอีกที แพทย์สามารถผ่าตัดเลาะระหว่างชั้นนั้นๆเพื่อวางซิลิโคนได้ครับ
แล้วเราจะเอาซิลิโคนเข้าวางได้อย่างไร?
ต้องใช้วิธีการผ่าตัดนำซิลิโคนเข้าไปได้ 3 ช่องทางได้แก่
- รักแร้ (Armpit)
- ใต้ราวนม (Breast Fold)
- รอบปานนม (Peri-Areolar)
พออ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงจะทราบแล้วว่าแผลที่เกิดขึ้นตอนเสริมหน้าอกทั้ง 3 ทางคือ รักแร้, ใต้ราวนม, รอบปานนม เป็นเพียงช่องทางเข้าไปวางซิลิโคนเท่านั้น ไม่ได้แสดงถึงการวางซิลิโคน “เหนือ” หรือ “ใต้” กล้ามเนื้อแต่อย่างใด
แล้วเราจะทราบได้อย่างไรล่ะว่า เราผ่าตัดวางซิลิโคนแบบไหน?
วิธีแรกคือไปหาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจร่างกาย ให้คุณหมอสัมผัสก็พอรู้ว่าเสริมแบบไหน หรือวิธีที่สอง ไปรพ.ทำอัลตร้าซาวด์ จะแน่นอนกว่า โดยมีค่าใช้จ่ายไม่สูงและได้ตรวจเช็คหน้าอกไปด้วยในตัว
เหตุใดการเสริมหน้าอก “เหนือกล้ามเนื้อ” หรือ “ใต้กล้ามเนื้อ” ถึงมีความสำคัญ?
ข้อดีข้อเสียของ 2 วิธีนี้ต่างกันพอสมควร เดี๋ยวหมอจะเขียนเรื่องนี้อย่างละเอียดในบทถัดไป ส่วนตัวหมอชอบวิธี “ใต้กล้ามเนื้อ” มากกว่าครับเพราะว่า วิธีนี้มีผลดีกับคนไข้ในระยะยาวในหลายๆเรื่อง เช่น นมไม่เป็นบล็อก ซิลิโคนไม่เบียดเนื้อนม สามารถให้นมบุตรได้ สัมผัสนิ่มธรรมชาติ พังผืดแข็งไม่ค่อยเกิด นมไม่คล้อยตามอายุ ฯลฯ
แต่ “การผ่าตัดใต้กล้ามเนื้อ” นั้นยากและอันตราย เพราะว่าลึกกว่ากล้ามเนื้อลงไปก็จะเจอเยื่อหุ้มปอดระหว่างกระดูกซี่โครงซึ่งบางมาก หากผ่าตัดเลาะไม่ดี ไม่เชี่ยวชาญ อาจจะทำให้ทะลุเยื่อหุ้มปอดเกิดปอดรั่ว เสียชีวิตได้ ฉะนั้นการผ่าตัด “ใต้กล้ามเนื้อ” ต้องผ่าตัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจริงๆที่มีประสบการณ์สูง รู้วิธีการผ่าเลาะกล้ามเนื้อโดยไม่กระทบกระเทือนกระดูกซี่โครงหรือเยื่อหุ้มปอด และหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินแพทย์ก็สามารถรับมือได้
อีกประการ คือ การผ่าตัดใต้กล้ามเนื้อนั้น ขณะผ่าตัดกล้ามเนื้อจะมีความรู้สึกเจ็บพอสมควร การใช้ยาชาหรือฉีดยาหลับทั่วไปไม่เพียงพอที่จะระงับความรู้สึกได้ ต้องสลบลึกโดยใช้เครื่องดมยาสลบและต้องมีวิสัญญีแพทย์ดูแลเพื่อความปลอดภัย
สำหรับการเสริมหน้าอก “เหนือกล้ามเนื้อ” ก็มีข้อดีเช่นกัน
เช่น ไม่เจ็บมาก ฟื้นตัวเร็ว ใส่ซิลิโคนได้ขนาดใหญ่หลาย cc เพราะเนื้อนมสามารถขยายได้มากกว่าแบบใต้กล้ามเนื้อ และวิธีนี้เหมาะกับคนมีเนื้อนมอยู่แล้ว บางเคสหมอเองได้ตรวจประเมินคนไข้แล้วว่าเหมาะสม หมอก็จะเลือกเสริมหน้าอกด้วยวิธี “เหนือกล้ามเนื้อ” เหมือนกัน แต่วิธี “เหนือกล้ามเนื้อ” ไม่เหมาะกับคนเนื้อนมบาง อาจทำให้เห็นเป็นบล็อกชัดครับ
หวังว่าทุกคนจะเข้าใจกับคำว่าการเสริมหน้าอกด้วยวิธี “เหนือกล้ามเนื้อ” หรือ “ใต้กล้ามเนื้อ” กันมากขึ้นครับ
สรุป
*** การผ่าตัดเสริมหน้าอกทั้งวิธี “เหนือกล้ามเนื้อ” หรือ “ใต้กล้ามเนื้อ” มีข้อดีข้อเสียต่างกันและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนต่างกันเช่นกัน ทั้งนี้แพทย์ที่ผ่าตัดจะเป็นผู้ประเมิน และคนไข้มีสิทธิ์รับรู้ว่าได้รับการผ่าตัดแบบใดแก่ตนเอง
*** การเสริมหน้าอกไม่ใช่แค่การใส่ “ซิลิโคน” การวางตำแหน่งซิลิโคนก็สำคัญ
*** แผลการผ่าตัดเป็นเพียง “ทางเข้า” ของซิลิโคน ไม่ได้บอกว่า “เหนือ” หรือ “ใต้” กล้ามเนื้อ
ขอให้ทุกคนหน้าอกสวยอย่างปลอดภัย